ใครที่โดนใบสั่งก่อนหน้านั้นไม่ว่ากัน ต่อไปนี้ใครเบี้ยวใบสั่งโดนแน่! ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกได้เชื่อมโยงข้อมูลกันแล้ว ดีเดย์ บังคับใช้ 19 ธันวาคม 2562
ใครที่ไปต่อภาษีและต่อทะเบียน ท่านที่โดนใบสั่ง ต้องนำไปเสียค่าปรับให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าไม่ยอมจ่าย จะไม่สามารถรับเครื่องหมายการต่อภาษีได้ (ป้ายวงกลม) ทั้งยังมีการตัดแต้มอีกด้วย เรามาดูวิธีการจ่ายใบสั่งพร้อมกันเถอะ
ซึ่งแต่ก่อนคนที่โดนใบสั่งแต่ไม่ไปชำระค่าปรับ สามารถต่อภาษีรถประจำปีได้ โดยเฉพาะท่านที่โดนใบสั่งประจำแต่ไม่นำไปชำระ เพิกเฉย ทำให้ทุกคนขาดวินัยจราจร ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ระบบได้เชื่อมข้อมูลต่อกันระหว่าง 2 หน่วยงานคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อมูลใบสั่งที่ค้างชำระทั้งหมดจะถูกส่งมาที่กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้นายทะเบียนกรมการขนส่งฯ มีอำนาจรับชำระค่าปรับที่ค้างชำระแทนตำรวจได้ ระหว่างนี้ยังคงต้องเร่งกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ ร่วมกันให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ธันวาคม นี้
โดนตามหลักการผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถจะต้องชำระค่าปรับ พร้อมต่อทะเบียนชำระภาษีประจำปี ที่สำนักงานขนส่งฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ หากผู้เสียภาษียังไม่พร้อม กรมการขนส่งฯ จะออกเครื่องหมายการเสียภาษีฉบับชั่วคราวให้ ใช้ได้เพียง 30 วัน หลังจากนั้นต้องชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ หรือช่องทางอื่นเช่น ไปรษณีย์ เค้าเตอร์ ตู้ ATM แอพพลิเคชั่นกรุงไทย (NEXT) และหน่วยบริการรับชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ PTM ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับแจ้งจากนายทะเบียน เมื่อชำระค่าปรับแล้ว สามารถมารับเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีฉบับจริง (ป้ายวงกลม) ได้ในภายหลัง แต่หากผู้ขับขี่มั่นใจว่าไม่ได้กระทำความผิดที่ระบุไว้ในใบสั่ง สามารถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ภายใน 15 วัน
นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ยังสามารถตรวจสอบใบสั่งได้ จากเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน คือ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ (e-Ticket) เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล และตรวจสอบ จำนวนค่าปรับ และช่องทางชำระได้
การเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจะบันทึกข้อมูลการกระทำความผิดของผู้ขับขี่ บันทึกค่าปรับที่ค้างชำระตามใบสั่ง การตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่ จนกระทั่งพักใช้ใบอนุญาตของผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่เกรงกลัว และเคารพกฎหมายมากขึ้น ส่งผลให้อุบัติเหตุบนถนนลดลง